|   |
|
ข้อบังคับของสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2532
(Regulations of the Seed Association of Thailand, B.E. 2532)
แก้ไขครั้งที่ 4 ปี พ.ศ. 2543
ข้อ 1 สมาคมนี้มีชื่อว่า สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย ใช้อักษรย่อว่า ส.ม.ท. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า SEED ASSOCIATION OF THAILAND ใช้อักษรย่อว่า S.A.T.
ข้อ 2 เครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะเป็นรูปวงกลมซ้อนอยู่ในรูปสามเหลี่ยม ภายในวงกลมเป็นภาพมือและเมล็ดพันธุ์หลายๆ ชนิด โดยมีพื้นหลังเป็นภาพแผนที่ประเทศไทย มีชื่อสมาคมเป็นภาษาไทย สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย ด้านบนที่เหลืออีกสองด้านมีชื่อสมาคมเป็นภาษาอังกฤษ SEED ASSOCIATION OF THAILAND
ภาพมือและเมล็ดพันธุ์มีความหมายเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเมล็ดพันธุ์ดี ไปยังแหล่งการเพาะปลูกในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย สำหรับลักษณะรูปสามเหลี่ยมนั้นมีความหมายถึงการเชื่อมโยงระหว่างการวิจัย การศึกษา และการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรทั่วไป
ข้อ 3 สำนักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่ เลขที่ 2143/1 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
ข้อ 4 วัตถุประสงค์ของสมาคม
- 4.1 เป็นศูนย์กลางในการติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ในหมู่สมาชิก ผู้สนใจในวิทยาการเมล็ดพันธุ์ และวิทยาการแขนงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- 4.2 เป็นศูนย์กลางในการพบปะสังสรรค์ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกผู้สนใจในวิทยาการ เมล็ดพันธุ์และวิทยาการแขนงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- 4.3 เป็นศูนย์กลางของความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาทั้งในด้านวิทยาการเมล็ดพันธุ์ ธุรกิจอุตสาหกรรม เมล็ดพันธุ์ ศูนย์กลางของการให้บริการความรู้ทางวิทยาการเมล็ดพันธุ์ ให้คำปรึกษาเสนอแนะในธุรกิจและอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ งานบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบข้อบังคับของทางราชการ รวมทั้งบริการข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแก่ภาครัฐ ภาคเอกชน สมาชิกสมาคม และประชาชนผู้สนใจทั่วไป
- 4.4 ประสานงานกับหน่วยราชการ องค์การรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่น ๆ ตลอดจนภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงพันธุ์พืช การผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ทั้งภายในและต่างประเทศ สมาคมจะไม่ดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและจะไม่จัดตั้งโต๊ะบิลเลียดในสถานที่ตั้งของสมาคม
|
ข้อ 5 สมาชิกของสมาคมมี 2 ประเภท คือ
- 5.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่
- 5.1.1 สมาชิกสามัญประเภทบุคคล ได้แก่ นักวิชาการ นักศึกษา ข้าราชการ นักธุรกิจ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ และผู้สนใจทั่วไป สมาชิกสามัญประเภทบุคคลอาจจะเป็นสมาชิกประเภทรายปี หรือตลอดชีพก็ได้
- 5.1.2 สมาชิกสามัญประเภทองค์กร ได้แก่ องค์กร สถาบัน ที่สนใจกิจกรรมเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ บริษัท ร้านค้า และหน่วยงานราชการ สมาชิกประเภทองค์กรจะต้องเป็นสมาชิกตลอดชีพ
- 5.2 สมาชิกกิตติมาศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการะคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม
ข้อ 6 สมาชิกจะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
- 6.1 เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ
- 6.2 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
- 6.3 ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
- 6.4 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก ในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น
- 6.5 ถ้าเป็นองค์กรหรือสถาบันต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย
ข้อ 7 ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม
- 7.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่
- 7.1.1 ประเภทบุคคลรายปี ต้องเสียค่าลงทะเบียนแรกเข้า 50 บาท และค่าบำรุงรายปีๆ ละ 100 บาท สำหรับสมาชิกสามัญประเภทบุคคลตลอดชีพ เสียค่าลงทะเบียนแรกเข้า 50 บาท และค่าบำรุงรายละ 500 บาท
- 7.1.2 สมาชิกสามัญประเภทองค์กรหรือนิติบุคคล ต้องเสียค่าลงทะเบียนแรกเข้าและ ค่าบำรุง 5,000 บาท หลังจากนั้นจะต้องเสียค่าบำรุงประจำปีๆ ละ 2,500 บาท เพื่อรักษาสมาชิกภาพ
ข้อ 8 การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขาธิการ โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย 1 คน แล้วให้เลขาธิการนำใบสมัครเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม เพื่อพิจารณาการรับสมัคร ผลเป็นประการใด ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว
ข้อ 9 วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงภายในกำหนด ก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก
ข้อ 10 สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่ วันที่สมาคมได้รับหนังสือตอบรับจากผู้ที่ได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม
ข้อ 11 สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
- 11.1 ตาย
- 11.2 ลาออก โดยยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการและคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นไม่มีหนี้สินติดค้างกับสมาคม
- 11.3 ขาดคุณสมบัติสมาชิก
- 11.4 ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม หรือคณะกรรมการได้พิจารณาให้ออกจากสมาคม
ข้อ 12 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
- 12.1 มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน
- 12.2 มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
- 12.3 มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
- 12.4 มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
- 12.5 สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคม และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้คนละ 1 คะแนนเสียง
- 12.6 มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
- 12.7 มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
- 12.8 มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
- 12.9 มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมเกียรติแห่งสมาชิกของสมาคม
- 12.10 มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคม
- 12.11 มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้ให้มีจัดขึ้น
- 12.12 มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
|
หมวดที่ 3
การดำเนินกิจการสมาคม
ข้อ 13 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบายการดำเนินงานของสมาคมฯ งบประมาณรายจ่าย ควบคุมและกำกับการบริหารกิจการของสมาคม รวมทั้งการเงินการคลังให้เป็นไปตามแนวนโยบายที่กำหนด มีจำนวนอย่างน้อย 15 คน อย่างมากไม่เกิน 30 คน คณะกรรมการคณะนี้ได้มาโดยที่ประชุมใหญ่ของสมาคมเลือกตั้งจากสมาชิกสามัญ จำนวน 1 คน เป็นนายกสมาคม แล้วให้นายกสมาคมเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งต่างๆ ของสมาคมตามที่ได้กำหนดไว้ ตำแหน่งและหน้าที่กรรมการสมาคมโดยมีสังเขปดังต่อไปนี้
- 13.1 นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ของสมาคม
- 13.2 อุปนายกทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคม ในการบริหารกิจการสมาคมปฏิบัติตามหน้าที่ ที่นายกสมาคมได้มอบหมาย และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ของสมาคม
- 13.3 เลขาธิการ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำสำนักงานสมาคม มีหน้าที่ควบคุมกำกับบังคับบัญชาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ บริหารกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามกรอบนโยบาย และทำหน้าที่เลขานุการในการประชุมต่างๆ ของสมาคม
- 13.4 เหรัญญิก มีหน้าที่ควบคุมตรวจสอบการบริหารการเงินของสมาคม และตรวจสอบรับรองบัญชีงบดุลของสมาคม
- 13.5 ปฏิคม มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการให้การต้อนรับแขกของสมาคม และสร้างสื่อสัมพันธ์ระหว่างสมาคมกับสมาชิก และองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ
- 13.6 นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม การจัดทำบัตรประจำตัวสมาชิก ประวัติสมาชิก และตรวจสอบสมาชิกภาพของสมาชิก
- 13.7 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิก และบุคคลทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
- 13.8 กรรมการ ตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้น โดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวนข้อบังคับที่กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง
ข้อ 14 คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดได้คราวละ 2 ปี และเมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่รับอนุญาตให้จดทะเบียน จากทางราชการก็ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระ รักษาการไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการ ชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่า และคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ
ข้อ 15 ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้ง สมาชิกสามัญคนหนี่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น
ข้อ 16 กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช้เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ
- 16.1 ตาย
- 16.2 ลาออก
- 16.3 ขาดจากสมาชิกภาพ
- 16.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง
ข้อ 17 กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ให้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก
ข้อ 18 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
- 18.1 มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติโดยระเบียบนั้นจะต้องไม่ขัด ต่อข้อบังคับฉบับนี้
- 18.2 มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
- 18.3 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการ จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
- 18.4 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
- 18.5 มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับ
- 18.6 มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
- 18.7 มีหน้าที่รับผิดขอบในการบริหารกิจการทั้งหมดของสมาคม รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมด ของสมาคม และอนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีภายในไม่เกินเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี
- 18.8 มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิก ทั้งหมดได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับ หนังสือร้องขอ
- 18.9 มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรม ต่างๆ ของสมาคมให้ถูกต้องและสามารถให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
- 18.10 จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้ รับทราบ
- 18.11 มีหน้าที่อื่นๆ ตามข้อบังคับได้กำหนดไว้
ข้อ 19 คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง ทั้งนี้ เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม
ข้อ 20 การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 21 ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในทีประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
|
ข้อ 22 การประชุมใหญ่ของสมาคมมี 2 ชนิด คือ
- 22.1 ประชุมใหญ่สามัญ
- 22.2 ประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ 23 คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีๆ ละ 1 ครั้ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกๆ ปี และจะต้องนำเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีที่คณะกรรมการบริหารเห็นชอบ เสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีให้การรับรอง
ข้อ 24 การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วย การเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการ
ข้อ 25 การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ ให้สมาชิกได้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน ทั้งนี้ จะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงการประชุมใหญ่
ข้อ 26 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
- 26.1 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
- 26.2 แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย บัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
- 26.3 รับรองงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสมาคม
- 26.4 เลือกตั้งสมาชิก 1 คน เป็นนายกสมาคมเมื่อครบกำหนด
- 26.5 เลือกผู้สอบบัญชี
- 26.6 เรื่องอื่นๆ ถ้ามี
ข้อ 27 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 40 คน จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ก็ให้ขยายเวลาออกไปอีกพอสมควร แต่เมื่อครบกำหนดเวลาที่ขยายออกไปแล้วยังมีสมาชิกสามัญ เข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมก็ให้เลื่อนการประชุมคราวนั้นไป และให้จัดประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากเวลาได้ล่วงเลยมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 วัน แต่จะต้องไม่เกิน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้เลื่อน การประชุมในครั้งแรก การประชุมในครั้งหลังนี้ ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม สำหรับการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก หากมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ก็ไม่ต้องจัดประชุมใหม่ให้ถือว่าการประชุมนั้น เป็นอันยกเลิก
ข้อ 28 การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 29 ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่ประธานในการประชุมคราวนั้น
|
หมวดที่ 5
การเงินและทรัพย์สิน
ข้อ 30 การเงินและทรัพย์สินทั้งหมด ให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคม ถ้ามีให้นำฝากธนาคารออมสินสาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ธนาคารใดธนาคารหนึ่ง หรือมากกว่าธนาคารตามความจำเป็น เพื่อความสะดวกในการบริหารการเงิน
ข้อ 31 การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของผู้มีอำนาจอย่างน้อย 2 ใน 3 พร้อมประทับตราสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้ ดังนี้
- 31.1 กรณีเบิกเงินจากเงินงบกลางของสมาคม ซึ่งอยู่ในความดูแลของเหรัญญิก เพื่อใช้จ่ายเป็นเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสมาคม หรือเบิกเงินงบประมาณ ซึ่งตั้งสำรองเพื่อการฉุกเฉินไว้ในแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรืองบเงินที่อยู่ในอำนาจของนายกสมาคม หรืออำนาจของคณะกรรมการสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อนายกสมาคม หรือผู้รักษาการแทนนายกสมาคมร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขาธิการสมาคม
- 31.2 กรณีเบิกจ่ายเงินซึ่งตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามมติเห็นชอบของคณะกรรมการรับรอง โดยมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ซึ่งอยู่ในอำนาจของผู้จัดการสมาคม ให้ผู้จัดการสมาคมหรือผู้รักษาการแทน ลงนามร่วมกับเจ้าหน้าที่สมาคมผู้ทำหน้าที่ฝ่ายการเงิน หรือเจ้าหน้าที่ผู้ที่ผู้จัดการสมาคมเห็นสมควรมอบหมายให้ลงนาม
ข้อ 32 ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งไม่เกิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ทั้งนี้ ภายในกรอบของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่
ข้อ 33 ให้ฝ่ายการเงินของสำนักสมาคม มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันที
ข้อ 34 ให้ผู้จัดการสมาคม มีอำนาจอนุมัติเบิกจ่ายเงินตามกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ได้ในวงเงินครั้งละไม่เกิน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน)
ข้อ 35 ฝ่ายบัญชีการเงินของสมาคม จะต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายและงบดุลให้ถูกต้อง การจัดเก็บ เอกสารเบิกจ่าย รายรับ ออกใบเสร็จรับเงินโดยให้อยู่ภายใต้การดูแลตรวจสอบของเหรัญญิกสมาคม
ข้อ 36 ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารเกี่ยวกับการเงิน และทรัพย์สินจากคณะกรรมการ และเชิญกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม เพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้
ข้อ 37 คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการขอร้อง
|
หมวดที่ 6
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการยกเลิกสมาคม